วัฒนธรรม เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของญี่ปุ่นในทุกๆ ปี มักจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 4 มกราคม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญ กับเทศกาลขึ้นปีใหม่เป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ทำให้ได้มีเวลาพักผ่อนจากการทำงาน อีกทั้งสมาชิกในครอบครัวก็ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน และทำกิจกรรมหลายๆ อย่างร่วมกัน

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า และทันสมัยเพียงใดก็ตาม ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็ยังคงมี วัฒนธรรม และประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณให้ได้สัมผัสกันอยู่หลากหลาย
คนญี่ปุ่นทั่วๆไป ก็ยังคงไปสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้า ด้วยคำขอเล็กๆ น้อยๆ อยู่เหมือนเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นมีการไปไหว้พระช่วงปีใหม่ คล้ายๆ คนไทยเราที่ไปไหว้พระช่วงปีใหม่ ตักบาตรทำบุญ ซึ่งจะเรียกการไปวัดครั้งแรกในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ว่า 初詣 (ฮัตสึโมเดะ) จะเริ่มกันตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 31 ธันวาคม ส่วนใหญ่ก็จะไปเข้าแถวรอกันตั้งแต่ดึก เพื่อให้ได้ไหว้กันตอนเช้าปีใหม่ ถือเป็นการต้อนรับปีใหม่ และแสดงความขอบคุณที่สามารถใช้ชีวิตในปีก่อนได้อย่างปลอดภัย มีการสวดมนต์อธิษฐานให้ปีใหม่นี้มีสุขภาพแข็งแรง
นอกจากนี้คนญี่ปุ่นจะมีการระฆังส่งท้ายปีที่ญี่ปุ่น เมื่อเข้าสู่คืนวันที่ 31 ธันวาคม ก็จะค่อยๆ ตีระฆังใหญ่ที่วัดจำนวน 108 ครั้ง ซึ่งเรียกว่า 除夜の鐘 (โจยาโนะ คาเนะ) คืนก่อนวันขึ้นปีใหม่ ตามวัดทั้งประเทศญี่ปุ่นจะมีพิธีการตีระฆังเป็นจำนวน 108 ครั้ง โดยก่อนถึงเวลาขึ้นปีใหม่ จะมีการตีระฆังจนถึง 107 ครั้ง จนถึงเวลาเที่ยงคืนและเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ของการเข้าสู่ปีใหม่ก็จะตีอีก 1 ครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถือเป็นการขับไล่กิเลสชั่วร้าย 108 อย่างที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าการตีระฆังจะช่วยล้างบาป และขจัดกิเลส ตัณหาได้ เพื่อจะได้ต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ ด้วยจิตอันบริสุทธิ์
หลังจากนั้นจะมีการชมพระอาทิตย์แรกของปี คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่า การชมพระอาทิตย์แรกของปี มีพลังศักดิ์สิทธิ์ โดยประเพณีนี้เริ่มขึ้นมาในสมัยเมจิ (1868-1912) หลังจากไหว้พระขอพรกันเสร็จแล้ว ก็จะพากันเดินทางกลับ แต่มีคนบางส่วนจะไปตามภูเขา หรือทะเล เพื่อดูพระอาทิตย์แรกของปีใหม่ในเช้าวันที่ 1 มกราคม และอธิษฐานให้ครอบครัวมีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี
ในส่วนของการตกแต่งและของประดับช่วงปีใหม่ การตกแต่งบ้านรับปีใหม่ในญี่ปุ่นปกติแล้วจะทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ของประดับตกแต่งบ้าน เป็นของมงคลสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไป เช่น ประตูสน หรือ คาโดมัทสึ (Kadomatsu) ที่นำมาประดับประตูรั้วบ้าน ลักษณะเป็นไม้ไผ่ปลายแหลมแซมด้วยใบสน ใบเฟิร์น ฟางข้าวและสิ่งมงคลต่างๆ โดยมักจะประดับเป็นคู่ทางซ้ายและขวาของประตูรั้ว ตามความเชื่อว่าเพื่อให้เป็นที่สังเกตของเทพเจ้าให้เข้ามาในบ้านได้ถูกต้อง
สนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้เทพเจ้า ส่วนไผ่สีเขียวจะมีลำต้นตรงและล้มยากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว อีกหนึ่งเครื่องรางที่นิยมนำมาประดับบ้านคือ เชือกศักดิ์สิทธิ์หรือชิเมะนาวะ เป็นเครื่องรางที่ถือกำเนิดมาอย่างยาวนาน เราจะเห็นเชือกนี้ได้ตามศาลเจ้าและวัด ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เชือกศักดิ์สิทธิ์ชิเมะนาวะ ส่วนใหญ่มักจะมีขนาดใหญ่ นิยมติดไว้บริเวณสถานที่ที่มีพิธีกรรม แต่คนญี่ปุ่นก็นิยมนำแบบเล็กมาประดับบ้านด้วย เพื่อทำให้บ้านเป็นพื้นที่ที่มีแต่โชคลาภและสิ่งดี ๆ เข้ามา
ทั้งยังมีการจัดบ้านมุมหนึ่งในพื้นที่เล็กๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าโทโคโนมะ (Tokonoma) และเครื่องสักการะที่นำมาวางนั้นก็จะมี คะงะมิโคจิ (Kagamimochi) เป็นโมจิกลมๆ สองลูกซึ่งหมายถึงตัวแทนพระอาทิตย์กับพระจันทร์วางซ้อนกันอยู่ หลังจากผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ไป ประมาณวันที่ 11 มกราคม ก็สามารถนำโมจิทั้งสองลูกไปรับประทานเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับคนในครอบครัว

ส่วนเรื่องอาหาร ในวันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปีชาวญี่ปุ่นจะเรียกวันนี้ว่าโอมิโซกะ (Omisoka) ประเพณีที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างหนึ่งก็คือ การรับประทานโซบะ (soba) ที่เรียกกันว่าโซบะข้ามปี หรือ “โทชิโคชิ โซบะ” (Toshikoshi Soba) เพื่อส่งท้ายปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป และมีความเชื่อว่า ความยาวของเส้นโซบะเปรียบได้กับการมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว อีกทั้งลักษณะที่ตัดขาดได้ง่าย ก็หมายถึงการตัดเอาเรื่องร้ายๆ ที่ผ่านมาในปีเก่าออกไป โดยจะต้องทานให้หมดเกลี้ยงก่อนเที่ยงคืน ถ้าหากกินข้ามคืน และทานไม่หมด สิ่งต่างๆ ก็จะหยุดชะงักลงจะไม่เป็นมงคล
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ในช่วงสิ้นปีเป็นช่วงที่ส่วนใหญ่ทุกคนจะวุ่นวายอยู่กับการทำความสะอาด และตกแต่งบ้าน การทานโซบะในวันนี้ก็เพราะเป็นอาหารที่ทำรับประทานได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ดังนั้นในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ถ้าไม่ได้ทำโซบะรับประทานเองที่บ้าน แต่ออกไปที่ร้าน ก็จะพบว่าร้านโซบะแทบทุกร้านจะเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ที่มาทานโซบะข้ามปี
ต่อมาชุดอาหารขึ้นปีใหม่ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอเซจิเรียวหริ ในวันที่ 1 มกราคมในญี่ปุ่น จะมีการทำอาหารมงคลมื้อแรกของปี ที่ทำขึ้นเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัว โดยจะเริ่มทานกันวันที่ 1 มกราคม และแบ่งไว้ทานจนถึงประมาณวันที่ 3 มกราคม เป็นอาหารที่มีแต่วัตถุดิบที่สื่อถึงความหมายดีๆ เป็นมงคลเพื่อเป็นการอวยพรให้สมาชิกในครอบครัวทุกคน มีแต่ความสุขตลอดทั้งปี และยังมีแนวคิดที่จะช่วยผ่อนแรงของแม่บ้าน ที่ต้องเตรียมหุงหาอาหารมาตลอดทั้งปีได้พักผ่อนบ้าง โอเซจิเรียวหริ จะจัดเป็นเซตอยู่ในกล่องซ้อนกัน มีความหมายว่า สั่งสมความยินดี (めでたさを重ねる) แบบดั้งเดิมเลยจะเป็นกล่องซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ปัจจุบันเรามักจะเห็นกล่อง 3 ชั้นเป็นส่วนใหญ่ โดยแต่ละชั้นก็จะชื่อเรียกเฉพาะ และใส่อาหารตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นมักจะทานโมจิ (mochi) ซึ่งทำจากข้าวเหนียว และนิยมนำมาเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าด้วย ขั้นตอนการทำโมจิแบบดั้งเดิมนั้นเรียกว่า โมจิทสึกิ (Mochitsuki) สำหรับวิธีการทำจะเริ่มจากการใส่ข้าวเหนียวลงในอุซุ (Usu) หรือครกไม้ขนาดใหญ่ และให้คนหนึ่งใช้สากไม้ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าคิเนะ (kine) ตำลงไปเป็นจังหวะ โดยมีอีกคนคอยช่วยพลิกโมจิไปด้วย จนได้ออกมาเป็นก้อนแป้งโมจิที่นุ่มเหนียวในที่สุด ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โมจิหลายชุดจะถูกจัดเตรียมหลายวันไปจนถึงวันส่งท้ายปีเก่า และยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบในของตกแต่งคะงะมิโมจิ และอาหารอย่างโอโซนิอีกด้วย
หากพูดถึงเรื่องกิจกรรมหรือเทศกาลอื่นๆ ในช่วงปีใหม่ที่คนญี่ปุ่นนิยมกัน สิ่งแรกคงหนีไม่พ้น ฟุคุบุคุโระ (福袋) หรือถุงนำโชค (Lucky Bags) ในอดีตหมายถึง “ถุงที่ใส่ความสุข” แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นใส่สิ่งของดีๆ ไว้ข้างใน โดยจะนำสินค้าที่มีมูลค่าระดับหนึ่ง นำมาใส่รวมกันในถุงที่มิดชิด โดยจะบอกเพียงว่าภายในเป็นสินค้าชนิดใด และติดราคาเท่ากันทุกถุง ฉะนั้นคุณอาจจะได้ทั้งสินค้าที่มีราคารวมแพงกว่าเงินที่จ่ายจริง หรือเท่ากับเงินที่จ่ายจริงก็ได้ เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานในช่วงปีใหม่ ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยสินค้ากันอย่างคึกคัก โดยปกติจะมีการจำหน่าย ถุงนำโชค ในวันที่ 2 หรือ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ห้างร้านต่างๆ จะเปิดทำการเป็นวันแรกของปี
นอกจากนี้ยังมีการส่งไปรษณียบัตรปีใหม่ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เน็งกะโจ(年賀状)เป็นไปรษณียบัตรสำหรับปีใหม่โดยเฉพาะ ใช้สำหรับการแนะนำตัว หรือเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ในไปรษณีย์บัตรมักจะมีคำอวยพรสั้นๆ เพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยระหว่างผู้ส่งที่มีให้ผู้รับนั่นเอง
ยังมีสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นปฏิบัติกันในช่วงปีใหม่อีกคือ การให้เงินขวัญถุง หรือ โอโตชิดามะ (お年玉) ก็คือเงินปีใหม่ คล้ายกับการให้อั่งเปาของชาวจีน เด็กๆ จะได้รับจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา เป็นเงินรางวัลที่ปีที่แล้วเป็นเด็กดี และ หวังว่าปีใหม่จะทำตัวเป็นเด็กดียิ่งๆ ขึ้นไป
สรุปคือ การหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ นับเป็นโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนได้ใช้ช่วงเวลาสุดพิเศษอย่างเต็มที่กับครอบครัว และเพื่อนฝูง เพื่อรอต้อนรับปีใหม่กันอย่างมีความสุข ด้วยความที่ชาวญี่ปุ่นนั้น มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของโชคลาง ทำให้ประเพณีการเฉลิมฉลองปีใหม่มีความน่าสนใจ และเป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นวัยหนุ่มสาวหลายคนมักจะนิยมใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ๆ แต่อย่างไรก็ตามประเทศญี่ปุ่น ก็ยังคงเอาไว้ซึ่งกลิ่นอายของดินแดนแห่งวัฒนธรรม ที่น่าไปสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Web site : https://kinodir.com
Youtube : Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCsIXs-6kzrXwOKowy347xUA
FB page : https://www.facebook.com/ChiphaichanelTH
Twitter : https://twitter.com/ChipHai__?s=06